Skip links
การแปล

ระดับภาษาในการแปล

นักแปลควรเลือกระดับภาษาในงานแปลให้เหมาะสมกับบริบท กลุ่มเป้าหมาย หรือความต้องการของผู้ใช้บริการ เนื่องจากแต่ละระดับภาษาของไทยมีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สถานที่และโอกาส ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือลักษณะของเนื้อหา เป็นต้น บทความนี้จึงจะขอนำเสนอว่าระดับภาษาในไทยมีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับดังนี้

ระดับพิธีการ:

ใช้สื่อสารในที่ที่จัดขึ้นอย่างเป็นพิธีการหรือในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น งานราชพิธี การกล่าวสุนทรพจน์  หรือการกล่าวรายงาน เป็นต้น โดยภาษาระดับนี้จะมีความประณีตงดงามและไพเราะสละสลวย, การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์, อาจมีความซับซ้อนบ้าง อีกทั้งยังมีการใช้คำระดับสูงอีกด้วย

ระดับทางการ:

ภาษาระดับนี้ใช้ในการบรรยาย  อภิปรายอย่างเป็นทางการ โดยจะเน้นความชัดเจนและตรงประเด็น ส่วนใหญ่จะใช้ในโอกาสที่สำคัญหรือมีความเป็นทางการ เช่น เอกสารราชการ การกล่าวปราศรัย การกล่าวเปิดงานสำคัญ หรือวิทยานิพนธ์ เป็นต้น ภาษาระดับนี้มีการใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อาจมีคำศัพท์เฉพาะทางหรือคำศัพท์วิชาการ

 

ระดับกึ่งทางการ:

มีความคล้ายคลึงกับระดับทางการแต่จะลดความเป็นการเป็นงานลงมา มักใช้ในการประชุมกลุ่มเล็ก เช่น การเสวนา,  บรรยายในห้องเรียน, ประชุมกลุ่มย่อย หรือข่าวกับบทความในหนังสือพิมพ์ ภาษาระดับนี้จะใช้คำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและเลือกใช้ศัพท์เฉพาะเท่าที่จำเป็น

ระดับไม่เป็นทางการ:

เป็นภาษาระดับสนทนาที่ไม่เคร่งครัดตามแบบแผน ใช้สนทนากันระหว่างบุคคลทั่วไปในสถานที่และโอกาสที่ไม่เป็นส่วนตัว เช่น บทสนทนาระหว่างเพื่อน การปรึกษาหารือร่วมกัน หรือการสั่งอาหาร เป็นต้น ภาษาที่ใช้อาจมีคำเฉพาะในบางกลุ่ม

ระดับกันเอง:

เป็นระดับภาษาที่ใช้ในวงจำกัดและสถานที่ส่วนตัว ไม่มีความเคร่งครัด อาจมีคำสแลง คำหยาบ หรือคำหยอกล้อ เช่น การพูดคุยกันในบ้าน การหยอกล้อกันระหว่างเพื่อนสนิท หรืออาจมีปรากฏในงานเขียนกับนิยายเพื่อให้ตัวละครมีความสมจริง เป็นต้น